ผู้เขียน หัวข้อ: 5 โรคเรื้อรังยอดฮิตของผู้สูงวัย...ที่อาจนำไปสู่ “โรคหัวใจ” ได้ในอนาคต  (อ่าน 42 ครั้ง)

siritidaphon

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 203
    • ดูรายละเอียด
5 โรคเรื้อรังยอดฮิตของผู้สูงวัย...ที่อาจนำไปสู่ “โรคหัวใจ” ได้ในอนาคต

อาจเพราะพฤติกรรมการใช้ชีวิตแบบผิดๆ ที่สะสมเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้ร่างกายเกิดความเสื่อม…ผู้สูงอายุจึงมักตรวจพบ “โรคเรื้อรัง” ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน โรคอ้วน หรือ โรคไต ซึ่งผู้สูงอายุมักมองว่าโรคเรื้อรังเหล่านี้…ไม่ใช่โรคร้ายแรงที่น่ากลัว แต่รู้หรือไม่ว่า? โรคเรื้อรังที่ใครๆ ก็เป็นนี่แหละ!! คือต้นเหตุที่นำไปสู่ “โรคหัวใจ” ในอนาคตได้

1. ความดันโลหิตสูง

ถ้าพูดถึง “ความดันโลหิตสูง” อาจจะดูเหมือนว่า…เป็นโรคยอดฮิตติดท็อปไฟว์ที่ใครๆ ก็เป็นกัน ทั้งที่จริงๆ แล้ว โรคนี้ป้องกันได้ไม่ยาก แม้ว่าจะไม่มีสาเหตุชัดเจน…แต่แค่รู้จักปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้ถูกต้อง คุณก็ไม่ต้องเกาะติดเทรนด์เหมือนใครๆ แถมความดันโลหิตสูง ยังเป็นสาเหตุก่อให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด…ที่ร้ายแรงกว่าที่คุณคิด!! เพราะความดันโลหิตที่ผิดปกติส่งผลให้หัวใจโต หลอดเลือดหัวใจหนาและแข็งตัวขึ้น ผู้ป่วยจึงมักเกิดอาการเจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด ท้ายที่สุด..เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้แบบเฉียบพลัน!!

2. เบาหวาน

อีกหนึ่งโรคเรื้อรังที่พบมากในคนไทย เพราะไม่เพียงพฤติกรรมการใช้ชีวิตแบบตะวันตก…แต่เบาหวานยังมีสาเหตุมาจาก “กรรมพันธุ์” ทำให้โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย! ซึ่งการที่ร่างกายเรามีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ส่งผลให้การทำงานของเซลล์ผิดปกติ…เกิดความเสียหายแก่ผนังหลอดเลือด ทำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่าคนปกติ ถึงร้อยละ 50 เลยทีเดียว

3. โรคอ้วน

คงไม่มีหลักทฤษฎีไหนที่บอกว่า…อ้วนแล้วดี!! เพราะโรคอ้วนมีความเกี่ยวโยงไปสู่โรคร้ายแรงต่างๆ มากมาย อย่างเช่น “โรคหัวใจขาดเลือด” เนื่องจากระดับของไขมัน คอเลสเตอรอล และดัชนีมวลกาย ที่สูงกว่าปกติ ล้วนมีผลต่อผนังหลอดเลือดที่หนาขึ้น หลอดเลือดแดงจึงตีบแคบ…เลือดไหลเวียนได้น้อย ในที่สุดก็เกิดหลอดเลือดอุดตัน กลายเป็น “ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย” .

4. ไขมันในเลือดสูง

เพราะไขมันที่เกาะอยู่กับผนังหลอดเลือด…สะสมจนมีปริมาณมาก กลายเป็นภาวะไขมันในเลือดสูง ซึ่งมีผลทำให้หลอดเลือดเกิดการตีบตันได้ง่าย และเมื่อหลอดเลือดตีบตัน…อวัยวะต่างๆ ขาดเลือดหล่อเลี้ยง เกิดเป็น “ภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง” ซึ่งถ้าหากเกิดขึ้นกับหลอดเลือดหัวใจ ก็จะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันได้

5.โรคไตเรื้อรัง

ส่วนใหญ่แล้ว ผู้ที่ป่วยเป็นความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรือไขมันในเลือดสูง…มักตรวจพบว่ามีโรคไตเรื้อรังร่วมด้วย เพราะไตมีการทำงานหนัก ทำให้เสื่อมเร็วกว่าผู้ที่ร่างกายแข็งแรงเป็นปกติ และเมื่อไตเสื่อมมากๆ จนไม่สามารถขับของเสียออกจากร่างกายได้ สารพิษที่คั่งค้างในร่างกายจะทำให้ “หัวใจ” ทำงานไม่เป็นปกติ ซึ่งการชะลอความเสื่อมของไต…ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ! โดยนอกจากการรักษาทางการแพทย์แล้ว การควบคุมอาหาร งดสูบบุหรี่ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตลอดจนการออกกำลังกาย ก็ช่วยให้ไตไม่ต้องทำงานหนักได้เหมือนกัน

เพราะอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายเรา…ทำงานเชื่อมโยงกัน! ดังนั้น การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อควบคุมโรคเรื้อรังที่เป็นอยู่ไม่ให้รุนแรงไปกว่าเดิม ก็เท่ากับว่า…คุณได้ป้องกันการเกิด “โรคหัวใจ” ด้วยเช่นกัน