Doctor At Home: อีสุกอีใส (Chickenpox)อีสุกอีใส (Chickenpox/Varicella) เป็นโรคติดต่อทางผิวหนังชนิดหนึ่งที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสวาริเซลลาซอสเตอร์ (Varicella Zoster Virus: VZV) ส่งผลให้ร่างกายเกิดผื่นคัน เกิดตุ่มนูน หรือตุ่มน้ำใสขนาดเล็กขึ้นบนผิวหนังทั่วร่างกาย อีสุกอีใสมักพบในบ่อยในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัยเช่นเดียวกัน
อีสุกอีใสสามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ง่ายและรวดเร็ว โดยอาจติดเชื้อผ่านทางการสัมผัสบาดแผลของผู้ติดเชื้อโดยตรง ทางน้ำลาย การไอ การจาม หรือการหายใจเอาเชื้อที่ปะปนในอากาศเข้าไป นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ เช่น การอยู่ในที่ที่มีผู้คนจำนวนมากอย่างโรงเรียนหรือศูนย์เด็กเล็ก
อาการของอีสุกอีใส
อาการของอีสุกอีใสอาจเริ่มต้นด้วยการมีไข้ต่ำ รู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดศีรษะ เหนื่อยง่าย เฉื่อยชา เจ็บคอ และไม่อยากอาหารในช่วง 1–2 วันแรกของการติดเชื้อ หลังจากนั้นจะเกิดผื่นเป็นจุดสีแดงขึ้นตามใบหน้าและทั่วร่างกาย ซึ่งผื่นแดงเหล่านี้จะเริ่มกลายเป็นตุ่มพองขนาดเล็กที่มีน้ำใส ๆ อยู่ภายใน ในอีกประมาณ 2–4 วัน ก่อนที่จะเกิดการตกสะเก็ดในสัปดาห์ต่อมา
นอกจากนี้ ผู้ป่วยมักมีอาการคันบริเวณที่เกิดผื่นหรือตุ่มพองอยู่บ่อยครั้ง อาการของอีสุกอีใสที่พบในเด็กเล็กส่วนใหญ่จะเป็นอาการที่ไม่ร้ายแรง แต่อาการที่พบในวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่อาจมีการพัฒนาโรคที่รุนแรงมากขึ้น และสำหรับผู้ที่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสแล้วก็สามารถติดเชื้อได้เช่นกัน แต่จะพบได้น้อยมากและมีอาการเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม หากมีอาการผิดปกติที่รุนแรงขึ้นควรรีบไปพบแพทย์ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปี ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ และผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ดังนี้
มีไข้สูงหรือติดต่อกันนานกว่า 4 วัน
มีอาการไออย่างรุนแรง
มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง
มีผื่นแดงเป็นจ้ำ หรือมีเลือดออก
สาเหตุของอีสุกอีใส
อีสุกอีใสเกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลาซอสเตอร์ หรือวีซีวี (Varicella Zoster Virus: VZV) โดยเชื้อจะแพร่กระจายผ่านการสัมผัสกับแผลของผู้ป่วยโดยตรง ทางน้ำลาย การไอ การจาม หรือการหายใจเอาเชื้อที่ปะปนในอากาศเข้าไป และสามารถแพร่กระจายได้ง่าย เพราะโรคจะมีระยะเวลาในการฟักตัวประมาณ 2 สัปดาห์ก่อนเริ่มแสดงอาการ ทำให้ผู้ป่วยไม่รู้ตัวและเผลอแพร่เชื้อให้ผู้อื่น
นอกจากนี้ การติดเชื้อในบางกรณีอาจเกิดจากการสัมผัสกับแผลของผู้ป่วยที่เป็นโรคงูสวัดได้เช่นกัน เนื่องจากเชื้อไวรัสชนิดนี้เป็นชนิดเดียวกับเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคงูสวัด แต่จะพบได้น้อยมาก
การวินิจฉัยอีสุกอีใส
แพทย์จะวินิจฉัยในเบื้องต้นด้วยการดูลักษณะของผื่น ตุ่มน้ำ หรือตุ่มพองที่เกิดขึ้นบนผิวหนังเป็นหลัก ร่วมกับการตรวจร่างกายทั่วไปและสอบถามอาการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย เช่น มีไข้ ไม่อยากอาหาร หรือปวดศีรษะ
ในบางกรณี หากไม่สามารถทราบได้อย่างแน่ชัดว่าเป็นโรคอีสุกอีใสหรือไม่ แพทย์อาจนำตัวอย่างของเชื้อจากตุ่มน้ำบนผิวหนังผู้ป่วยไปตรวจในห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจหาต้นตอความผิดปกติว่าเกิดจากเชื้อวีซีวีที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใสหรือเกิดจากเชื้อชนิดอื่น
การรักษาอีสุกอีใส
ผู้ป่วยที่มีสุขภาพแข็งแรงและมีอาการไม่รุนแรงสามารถดูแลตนเองได้ที่บ้าน แต่ในผู้มีอาการรุนแรงหรือมีเงื่อนไขสุขภาพอื่น ๆ เช่น เด็กเล็ก ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ หรือผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอควรไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสมและป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงตามมา
ส่วนการรักษาจากแพทย์ จะเป็นรักษาแบบประคับประคองตามอาการที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย เพื่อช่วยบรรเทาอาการของโรคเป็นหลัก เช่น
ให้ยาลดไข้ในกลุ่มยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่แอสไพริน (Non-aspirin Medications) เช่น ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) เพื่อช่วยบรรเทาความไม่สบายตัวจากอาการไข้ที่เกิดขึ้น
ให้ยาแก้แพ้ (Antihistamine) ชนิดยาทาภายนอกอย่างคาลาไมน์โลชั่น (Calamine Lotion) เพื่อช่วยบรรเทาอาการคันจากผื่นหรือตุ่มนูนที่เกิดขึ้น และช่วยกักเก็บความชุ่มชื้นให้แก่ผิวหนัง
ให้ยาต้านไวรัส เช่น ยาอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) ยาวาลาไซโคลเวียร์ (Valacyclovir) ในผู้ที่มีอาการรุนแรงเพื่อช่วยฆ่าเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคขึ้น
ภาวะแทรกซ้อนของอีสุกอีใส
ผู้ป่วยโรคอีสุกอีใสที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้ โดยเฉพาะในเด็กและผู้ใหญ่ที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส อาจเกิดอาการที่รุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล หรือเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
ภาวะแทรกซ้อนของโรคอีสุกอีใสที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น
การติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังและเนื้อเยื่อ
การติดเชื้อสเตรปโตคอคคัสกรุ๊ป-เอ (Group A Streptococcal Infections)
โรคปอดบวม
โรคสมองอักเสบ
ภาวะกล้ามเนื้อเสียสหการ (Cerebellar Ataxia) เป็นการประสานงานของกล้ามเนื้อที่ผิดปกติโดยมีสาเหตุมาจากการทำงานของสมองส่วนซีรีเบลลัม ทำให้เกิดอาการเดินเซ
การป้องกันอีสุกอีใส
การป้องกันที่ปลอดภัยและค่อนข้างมีประสิทธิภาพคือการฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส ซึ่งแพทย์จะแนะนำให้มีการฉีดวัคซีนจำนวน 2 เข็ม โดยเริ่มฉีดเข็มแรกได้ตั้งแต่ช่วงอายุประมาณ 1 ปี และฉีดกระตุ้นอีกครั้งเมื่ออายุประมาณ 4–6 ปี
สำหรับผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสมาก่อนจะต้องฉีดวัคซีนจำนวน 2 เข็มเช่นกัน โดยควรฉีดวัคซีนเข็มแรกและเข็มที่ 2 ห่างกันประมาณ 28 วัน ซึ่งวัคซีนจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคและลดความรุนแรงของอาการลงได้มากถึงประมาณ 90% แต่การฉีดวัคซีนในผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้ จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนการฉีดวัคซีน